เด็กชายวัย 7 ขวบมีเรื่องปรึกษาป้าของเธอว่า
"หนูมีเรื่องอยากถามป้า
เป็นเรื่องที่หนูไม่กล้าบอกพ่อแม่
หนูไม่ชอบความคิดของตัวเองเลย
มันผุดขึ้นมาตลอด
หนูอยากหยุดคิดแต่หยุดไม่ได้
บางทีหนูก็คิดไม่ดีกับพ่อกับแม่กับเพื่อนๆ
เช่นหนูโกรธพ่อกับแม่มาก
แต่หนูไม่อยากโกรธ บางทีก็เป็นความรู้สึกแย่ๆที่บอกเป็นคำพูดไม่ได้
หนูคิดไม่ดี หนูไม่อยากคิดไม่ดี
หนูไม่อยากเป็นแบบนี้เลย"
ว่าแล้วก็ขยี้หัวตัวเอง
ดีแล้วค่ะ
อย่างน้อยหลานก็เล่าให้ป้าฟัง
เมื่อเรามาถึงจุดที่คำถามจากเด็กๆเป็นเรื่องเกี่ยวกับนามธรรม
จับต้องไม่ได้
แต่ปรากฏเป็นเรื่องจริงที่ไม่สบายใจในจิตใจของเขา
ขอเพียงอย่างเดียวว่า
อย่าตอบลูกหลานไปว่า
"ก็อย่าไปคิดมันซิ"
เพราะขนาดเราที่เป็นผู้ใหญ่ยังไม่อาจห้ามความคิดได้
แล้วเด็กจะทำได้อย่างไร
ความคิดในหัวสมองคนเราเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะอยู่เหนือการควบคุม
แต่จริงๆแล้วไม่ใช่
เมื่อเด็กๆเริ่มโตขึ้น
ความคิดก็โตขึ้น
แต่แนวโน้มของสมองและจิตใจมักชอบคิดแต่เรื่องในแง่ลบ
และไม่เคยหยุดคิดเลย
ผู้ใหญ่จำนวนมากมีกลไกธรรมชาติในการหลีกหนีความยุ่งเหยิงทางจิตใจ
ด้วยวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ
แต่มีทางแยกสองทาง
บางคนเบี่ยงไปทางสร้างสรรค์ ด้วยการหามุมสงบพักใจ หรือทำสมาธิ
แต่บางคนเบี่ยงไปทางดื่มเหล้า เข้าผับ ใช้ยาเสพติด
เด็กๆก็เช่นกัน
เพียงแต่เราต้องเป็นคนชี้แนะวิธีที่สร้างสรรค์ในการจัดการกับความคิดของลูก
เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเอาอะไรมากดทับไว้ได้
เรามีวิธีดูแลความคิดและจิตใจลูกด้วยวิธีเหล่านี้ค่ะ
1.ยอมรับความคิดแง่ลบที่เกิดขึ้น แล้วค่อยๆแทนที่ด้วยความคิดแง่บวก
ความคิดที่ไม่ดีเช่น คิดร้ายกับพ่อแม่เมื่อโดนพ่อแม่ดุ
หรือคิดร้ายกับตัวเอง เช่น คิดหนีออกจากบ้าน
คิดทำร้ายตัวเอง หรือคิดน้อยใจที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
เหมือนข่าวเด็กวัย 10 ขวบที่ฆ่าตัวตายนั้น
มาจากความคิดไม่ดีที่พรั่งพรูไม่ยอมหยุด
จนไม่มีที่ให้ความคิดดีๆเข้าแทรก
พ่อแม่เป็นหลักใหญ่ในการสอนลูกจัดการกับความคิด
และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
ด้วยการทำให้ลูกเห็น
เช่น
เมื่อป้าถามหลานจึงได้รู้ว่า เขายอมรับว่าโกรธที่พ่อแม่ชอบดุและว่าเขาบ่อยๆ
เราจึงควรย้อนถามให้ลูกหลานได้คิดว่า
พ่อแม่ดุหรือว่าเพราะอะไร
ให้เด็กๆได้เข้าใจว่า
การที่พ่อแม่สอนสั่งนั้นก็เพื่อให้เรารู้จักปฏิบัติตัว
แสดงให้เด็กๆเห็นถึงความปรารถนาดีของพ่อแม่
และแทนที่ความคิดที่ไม่พอใจ
ด้วยการคิดถึงและเข้าใจความปรารถนาดีของพ่อแม่ เป็นต้น
2.คุณค่าของการหันเหความสนใจไปทางอื่น
เมื่อเราสังเกตเด็กๆเวลาที่พวกเขาได้วิ่งเล่น
ได้เล่นเกม กำลังทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เขาชอบ
เราจะเห็นความสนใจที่เพ่งไปที่สิ่งนั้นสิ่งเดียว
เพราะจิตใจทำงานได้ทีละอย่าง
จิตใจที่จดจ่อกับการเล่น
หรือการอ่านนิทาน
จะไม่มีที่ว่างให้กับความคิดฟุ้งซ่าน ในขณะนั้น
3.ให้ลูกได้ฝึกสมาธิในแบบที่เหมาะสมกับเด็ก
เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถนั่งนิ่งๆได้นาน
แต่การเล่นเกมหรือกีฬาที่ช่วยให้เด็กได้ฝึกสมาธิโดยไม่รู้ตัว
จะทำให้เขาทำได้ดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น
ข้อนี้มีความเกี่ยวพันกับข้อสอง
เพียงแต่ว่าเกมหรือกิจกรรมที่ให้เล่นนั้น
เน้นเรื่องสมาธิ
เพื่อให้ใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มากกว่าที่จะให้ลูกจิตใจล่องลอยไป
หรือคิดกังวลกับเรื่องต่างๆในแง่ลบ
ลองเล่นเกม
"ใครนั่งเงียบได้นานที่สุด"
นั่งล้อมวงกัน แล้วแข่งว่าใครนั่งนิ่งได้นานที่สุด
หรือ
เอาหนังสือวางบนหัวแล้วเดิน
สมัยตอนเด็กๆ
แม่พาครูโรส ครูแอนและน้องสาว
ไปวัดและให้นั่งสมาธิ
หลวงพ่อไม่ได้ให้นั่งพุทโธ
แต่ท่านให้เรานั่งหลับตาแล้วนึกภาพว่า
เราไปพุทธคยา
อยู่ที่ไหนไม่รู้
ตอนเด็กๆไม่รู้จัก
แล้วให้นึกภาพว่าเอาดอกบัวไปไหว้พระในพุทธคยา
นี่ก็เป็นกุศโลบายของท่านที่อยากให้เด็กมีสมาธิ
ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่อ่านมาคือ
การจินตนาการสร้างภาพเป็นส่วนหนึ่ง
ของการฝึกจิตใจ
ข้อดีของการมีญาติผู้ใหญ่ก็คือเวลามีอะไรไม่สบายใจ
เด็กๆมักมาระบายให้ลุงป้าน้าอาที่สนิทได้ฟัง
ฟังแล้วก็ไปบอกพ่อแม่
พ่อแม่ก็ช่วยกันแก้ไขต่อไป
แต่ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าพ่อแม่ไม่ได้สังเกตว่า
เกิดอะไรขึ้น
บางครั้งความน้อยใจที่เกิดขึ้นในใจลูก
อาจถูกมองผ่านเลยไป
เพราะชีวิตประจำวันอันยุ่งเหยิงอำพรางมันไว้
หรือเพราะเราไม่เห็น จึงไม่คิดว่ามันมีอยู่
เด็กๆควรได้รับการปลูกฝังให้รู้จักสร้างเครื่องดับเพลิงของเขาเอง
ในวันที่เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
เขาจะได้รู้จักดับไฟในใจไม่ว่าจะกองเล็กกองใหญ่ได้ด้วยตนเอง
#bangkokkids #babyswimming#helpkidsgetridofnegativethoughts
#kidsstayfocus #repost
ขอบคุณข้อมูลน่าคิดจาก
how to get rid of negative thoughts